ไทยขยับอันดับ 70 ดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้าน HR ปี 2561

กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทยเผยผลการจัดอันดับ “ศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลกประจำปี 2561” ดัชนี้นี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของแต่ละประเทศในการผลิต ดึงดูด พัฒนาและรักษาทรัพยากรบุคคล

สำหรับประเทศไทยได้ขยับอันดับขึ้นมาอยู่ที่ 70 ในดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้าน HR ด้านความเสมอภาคทางเพศพุ่งสูงถึงอันดับที่ 21 ของโลกแซงประเทศสหรัฐอเมริกา

กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ร่วมกับ Tata Communications และสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก INSEAD เผยผลการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลก (Global Talent Competitiveness Index) ที่วัดจากทุกมิติทั้งด้านการผลิต ดึงดูด พัฒนาและรักษาทรัพยากรบุคคล จากการสำรวจใน 119 ประเทศทั่วโลกพบว่าในปีนี้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ครองแชมป์ ตามด้วยประเทศสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา ด้านไทยติดอันดับที่ 70 จากเดิมอันดับที่ 73 เหนือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ลาว กัมพูชา แต่ยังตามหลังมาเลเซียอีกไกล

Global Talent Competitiveness Index

ไทยติดอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศ AEC

ผลวิจัยชี้ปัญหาหลักประเทศไทยขาดแคลนแรงงานสาย อาชีพ

ศักยภาพการแข่งขัน อันดับ
ปัจจัยส่งเสริมภายใน (Enable) 48
การดึงดูดแรงงาน (Attract) 55
พัฒนาแรงงาน (Grow) 69
การรักษาแรงงาน (Retain) 71
ทักษะสายวิชาชีพ (Vocational Skills) 89
ความรู้ความสามารถของแรงงาน (Global Knowledge Skills) 68

ในปีนี้ประเทศไทยสอบผ่านด้านปัจจัยส่งเสริมภายในและการดึงดูดแรงงาน กล่าวคือโดยรวมมีนโยบายภาครัฐ สภาพตลาดแรงงาน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี อย่างไรก็ตามยังต้องเร่งผลิต พัฒนาคุณภาพ และรักษาแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตและพัฒนาแรงงานด้านสายอาชีพที่กำลังขาดแคลน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลระดับสากล

ความเสมอภาคทางเพศในการทำงานของไทยพุ่งติดอันดับที่ 21 ของโลก

ด้านความหลากหลายของแรงงาน (Workforce Diversity) นั้นพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสมอภาคทางเพศในการทำงานอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ปีนี้อยู่ในอันดับที่ 21 นำประเทศผู้นำโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ที่อยู่ในอันดับที่ 22 37 และ 59 ตามลำดับ โดยเฉพาะด้านความแตกต่างของรายได้ระหว่างเพศหญิงและเพศชายที่มีความเสมอภาคจนติดอันดับที่ 11 ของโลก ขณะที่โอกาสก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงขององค์กรของแรงงานหญิงก็อยู่ในอันดับค่อนข้างสูง คือ อันดับที่ 28

ผู้บริหารอเด็คโก้แนะภาครัฐ-สถาบันการศึกษาเร่งผลิตแรงงานสายอาชีพป้อนตลาด สนับสนุนความหลากหลายในองค์กรเพื่อสร้างสังคมการทำงานที่ดี

คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคอเด็คโก้ประเทศไทย-เวียดนาม กล่าวว่า “ในปีนี้ดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคลของโลกประเทศไทยยังตอกย้ำปัญหาเดิมคือการขาดแคลนแรงงานสายวิชาชีพ ปัจจุบันมีผู้จบปริญญาตรีล้นตลาด ขณะที่ตลาดต้องการแรงงานที่จบสายวิชาชีพและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเติบโต ซึ่งการแก้ปัญหานี้ต้องเริ่มต้นที่การสร้างค่านิยมให้คนไทยหันมาเรียนสายวิชาชีพกันมากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเร่งพัฒนาการศึกษาในระดับ ปวช. ปวส. ให้มีคุณภาพมากขึ้น ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เน้นความรู้ความสามารถเชิงเทคนิค และเสริมภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับแรงงานไทยสู่ประชาคมอาเซียน”

“ส่วนด้านการพัฒนาและรักษาทรัพยากรบุคคลนั้น ควรมีการนำระบบ Mentorship หรือระบบพี่เลี้ยง กลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยให้พนักงานรุ่นพี่ที่มีทักษะและทัศนคติที่ดีคอยเป็นพี่เลี้ยงในการสอนงาน ให้คำปรึกษา ปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร ให้กับรุ่นน้องหรือพนักงานใหม่ วิธีนี้จะช่วยให้พนักงานสามารถปรับตัวเข้ากับองค์กร เพื่อนร่วมงานและสภาพแวดล้อมการทำงานได้ง่ายขึ้น ทำให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรและมีความผูกพันอยากร่วมงานกับองค์กรในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นหากองค์กรสามารถยกระดับระบบพี่เลี้ยงไปปรับใช้เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม (CSR) เช่น การให้คำปรึกษาแนวทางอาชีพกับนักศึกษาและเด็กจบใหม่ ก็จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร และเป็นประโยชน์ในการดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาทำงานในอนาคต สำหรับภาครัฐเองก็สามารถนำระบบพี่เลี้ยงนี้ไปใช้ได้เช่นกัน โดยรัฐอาจเป็นสื่อกลางในการรับอาสาสมัครที่มีประสบการณ์เข้ามาให้ความรู้ แนะนำแนวทางอาชีพ ให้กับนักศึกษาหรือผู้ที่สนใจหางาน เพื่อลดปัญหาการว่างงานและได้แรงงานที่มีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของตลาด”

“สำหรับภาพรวมทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในปี 2018 นี้ จะเน้นที่กลยุทธ์ด้านความหลากหลายของพนักงานในองค์กร เพราะสังคมปัจจุบันเป็นยุคของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ การมีพนักงานที่มีความรู้ความสามารถที่ต่างกันและมีความคิดที่หลากหลาย ก็จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้องค์กรควรเลือกพนักงานจากความสามารถมาก่อนเพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา สถาบันการศึกษา หรือฐานะทางสังคมของผู้สมัคร ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมแห่งการมีส่วนร่วม (Culture of Inclusion) เปิดกว้างทางความคิดและยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล เคารพในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งในจุดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนทั้งองค์กร จึงจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้”

ดาวนโหลดเอกสารฉบับเต็ม คลิกที่นี่

เกี่ยวกับกลุ่มบริษัทอเด็คโก้

สำนักงานใหญ่ของกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ตั้งอยู่ที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์ เป็นผู้ให้บริการชั้นนำของโลกด้านบริการเฉพาะทางที่ช่วยองค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ มีพนักงานประจำมากกว่า 33,000 คนและสำนักงานประมาณ 5,100 สาขาใน 60 ประเทศและดินแดนทั่วโลก กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ให้การบริการที่หลากหลาย มีการเชื่อมต่อกับพนักงานของอเด็คโก้ที่ทำให้อยู่กับบริษัทของลูกค้ากว่า 700,000 คนในทุกๆวัน บริการที่เสนอให้กับลูกค้ามีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการพนักงานชั่วคราว การจัดหาพนักงานประจำให้กับบริษัทลูกค้า บริการที่ปรึกษาด้านการวางแผนอาชีพ และกำหนดทิศทางในการหางานให้กับพนักงานบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงาน และการการพัฒนาผู้มีศักยภาพสูงหรือคนเก่ง รวมทั้ง การจัดจ้างและให้บริการคำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล อเด็คโก้เป็นบริษัทในกลุ่ม Fortune Global 500 อเด็คโก้กรุ๊ปเอจี (Adecco Group AG) เป็นบริษัทจดลงทะเบียนในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (ISIN: CH0012138605) และจดทะเบียนใน SIX Swiss Exchange (ADEN)