เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง

ทุกวันนี้ ข่าวตอนเช้า เราได้เห็นความสลดหดหู่ ของการใช้ความรุนแรงในการทุบตีเด็ก ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนที่ใช้คำนำหน้าว่าครู โครงการ #ENDviolence ยุติความรุนแรงในเด็ก เป็นโครงการของ Unicef ยูนิเซฟ ประเทศไทย #unicefth

ถ้าเป็นสมัยก่อน เราได้ยินคำว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” เด็กที่โตมาในสมัยนั้นอย่างเราๆ ก็เลยได้ดี เป็นคนดีเพราะพ่อแม่ตี (เพราะหวังดี อยากให้จำ ตีเพราะสอน) แต่จากข่าวทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ตี แต่เป็นการทุบตี ทำร้ายร่างกาย และใช้ความรุนแรง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาหลายชิ้น ซึ่งสนับสนุนโดย UNICEF พบว่า เด็กกว่าร้อยละ 50 เคยถูกลงโทษด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการลงโทษรุนแรง มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ตีหัว ตีด้วยไม้ บิดหู บางรายถูกลงโทษจนได้รับบาดเจ็บจึงเป็นที่มาของการยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก

ENDviolence-unicef-03
ทางยูนิเซฟ ได้จัดงานเสวนา “สร้างเด็กยุคใหม่ ด้วยวินัยเชิงบวก” ที่ Funarium สุขุมวิท งานนี้มีวัตถุประสงค์กระตุ้นให้ร่วมกันสร้างเครือข่ายยุติความรุนแรงต่อเด็ก ภายใต้แนวคิด “เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง” เราเป็นพ่อแม่ ที่มีบลูกอายุ 3 ขวบ ก็เลยสนใจประเด็นนี้ แถมสนใจคำว่า “สร้างวินัยเชิงบวก” ด้วย ครอบครัวเรา ไม่ใช้ความรุนแรงกับลูก แต่คุยกันด้วยเหตุผลอย่างเข้าใจ

ENDviolence-unicef-04ภาพจาก Twitter @UNICEF_Thailand

อ้างอิงจาก Twitter ‏@UNICEF_Thailand “ในไทย มีเด็กๆ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรง อย่างน้อยวันละ 52 คน” อ่านแล้วน่าตกใจนะครับ และในจำนวนที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พบว่าประมาณ 80% เกิดจากความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับทางเพศ อันนี้เราเห็นเป็นข่าวกันบ่อยมาก พ่อเลี้ยง มีเพศสัมพันธ์กับลูกเลี้ยง ความรุนแรงไม่ใช่เฉพาะการตีเพื่อสอน แต่เป็นความรุนแรงจากการล่วงละเมิดทางเพศด้วย

คลิปนี้ พ่อแม่ไม่รู้ตัวหรอกครับว่าความรุนแรง ทำให้เด็กรู้สึกห่างเหิน

ในส่วนของพ่อแม่เอง ก็ยังเชื่อว่าการใช้ความรุนแรง ฝึกวินัยเด็กได้ เพราะ “พวกเราก็เคยโดนมาแล้ว ยังผ่านมาได้” ยุคเราพ่อแม่ตีทั้งนั้น ตีเพื่อให้เราได้ดี คำว่ารักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ก็เลยจำฝังหัวมาแบบนั้น แต่เมื่อเราเป็นพ่อแม่สมัยใหม่ เราก็อยากจะเลี้ยงลูกด้วยเหตุผล ไม่ใช้กำลัง เพราะเรารู้ว่า มันส่งผลเสียต่อเด็ก ก็เลยมีการพูดถึงคำว่า “วินัยเชิงบวก”

ในงานเสวนา เรามีแพทย์หญิงเสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์พัฒนาการ รพ.BNH และสมิติเวช ศรีนครินทร์ มาร่วมเป็นวิทยากร ขออ้างอิงจากคุณหมอนะครับ

พญ.เสาวภาบอกว่า “การเลี้ยงลูกเชิงบวก ไม่ได้หมายความว่าไร้วินัย แต่คือการสร้างวินัยภายใต้บรรยากาศที่มีความสุข” ใครๆก็อยากมีความสุขใช่ไหม สุขทั้งครอบครัว เอาจริงๆ พ่อเราเป็นพ่อแม่เนี่ย คนที่ลูกกลัวและเกรงใจที่สุดคือพ่อแม่นะ กับยาย ย่า น้า อา แต่ละคนใจดี แต่คนสั่งสอนจริงๆคือพ่อแม่ และคนที่ใช้ความรุนแรงก็คือพ่อแม่เช่นกัน

พญ เสาวภา แนะนำว่า “พ่อแม่ต้องทำให้เด็กเชื่อว่าเราน่าเคารพ ผ่านการปฏิสัมพันธ์เชิงบวก แต่ไม่ใช่น่ากลัว” ผมว่าเหมือนสามีกลัวภรยาแหล่ะครับ น่าเคารพ แต่ไม่ใช่น่ากลัว (ฮ่าๆ)

อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่า “การสร้างสัมพันธ์ภาพเชิงบวก มันเป็นยังไง แล้วมันจะสอนลูกได้เหรอ มันเป็นการดึงศักยภาพของเด็กๆ ออกมาด้วยการกระตุ้นให้คิดวิเคราะห์” (ข้อมูลจาก พญ เสาวภา)

935071_587097031309889_1110339415_n
ทำไมยุคเราโดนตี พ่อแม่ดุ แล้วเราได้ดี แต่ยุคนี้มันต่างกัน ลูกเรายังเด็ก พ่อแม่มองแบบนั้น แต่ลูกเรา อายุ 3 ขวบ เขามีเหตุผลของตนเองโต้เถียงเราตั้งแต่ 2 ขวบกว่าๆแล้ว เด็กก็มีเหตุผลของตนเอง เราควรใช้เหตุผลคุยกัน ไม่ใช่การตี ทำโทษ มีครั้งนึงนลินทำ iPad หล่นแตก ด้วยความกลัวโดนพ่อแม่ดุ นลินบอกว่า หนูทำเองค่ะ หนูทำแตก หนูผิดเองค่ะ แค่นี้พ่อแม่ก็ไม่ต้องลงโทษแล้ว เพราะเด็กรู้ว่าตนเองผิด เราก็พูดกันด้วยเหตุผล เรามองว่าของมันเสียก็ซ่อมได้ แต่ลูกเรา ต้องเรียนรู้และจดจำว่าทำอะไรผิดและเข้าใจด้วยเหตุผล

พญ เสาวภา เน้นว่า “จุดสำคัญคือ เราเข้าใจเทคนิคการเลี้ยงลูกมากน้อยแค่ไหน เราจะ ‘หลุด’ น้อยลง” คำว่า “หลุด” เนี่ยมันคือความรุนแรง พ่อแม่อาจะไม่ได้ตั้งใจรุนแรง แต่ความโมโห บันดาลโทสะ อาจจะทำโดยขาดสติ ไม่ได้ยั้งคิด ก่อให้เกิดความรุนแรงได้

ENDviolence-unicef-02
ในงานมีเซเลปอย่างคุณเปิ้ล-นาคร แนะนำวิธีการให้ลูกๆ สนิมสนมกับน้องๆในงาน มีเพื่อนใหม่ คุณแม่ควรพาน้องๆมาคุยกัน ผมว่าใครจะเข้าใจโลกของเด็กเท่าเด็ก เด็กได้คุยกัน สนิทกัน เด็กดีก็สอนกันได้ คุณเปิ้ลก็ฮาเกิน บอกว่าทำโทษรุนแรงที่สุดคือดีดมะกอก แต่ส่วนใหญ่คุยด้วยเหตุผลมากกว่า

วิธีการเลี้ยงลูกของเรา เหมือนที่ พญ เสาวภา แนะนำคือ “การลงโทษด้วยการ ‘เข้ามุม’ คือ timeout ให้เวลาทั้งเราและเด็กได้สงบสติอารมณ์ ได้คิดถึงสิ่งที่ทำลงไปและผล” เรามักจะถามลูกค้า ที่ทำลงไป ผิดไหม ลูกรู้และตอบว่า ผิดค่ะ แต่เราก็ยอมรับนะว่า เราต้องสงบสติอารมณ์

ผมรู้เลยว่าพอเราเป็นพ่อแม่ เราจะจู้จี้ ขี้บ่น สารพัด ใครมาได้ยินผม ปกติผมไม่ใช่คนขี้บ่น แต่กับลูก เราบ่นเพราะการกระทำนั้นๆของเขา อาจส่งผลเสียหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อเขา เมื่อสงบแล้ว ก็กระตุ้นให้เด็กได้คิดว่าเกิดอะไรขึ้น ทำอะไรไป โดยคุยกันด้วยเหตุและผล ให้เด็กได้คิดว่าทำอะไรไป หาเกิดอีกคราวหน้า ควรทำอย่างไร โดยพ่อแม่ช่วยแนะนำ ผมเห็นด้วยกับคำพูดของคุณหมอเลย การพูดด้วยเหตุผล และเราก็ทำเหมือนที่คุณหมอแนะนำคือ ให้ทางเลือกว่าเขาจะทำอะไร หรือถ้าเขาไม่อาบน้ำ ก็ต้องบอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้ จะเกิดผลเสียอย่างไร “เมื่อเด็กถึงอายุที่ปฏิเสธ เราก็สามารถรับมือได้ด้วยการให้ตัวเลือกกับเด็ก ให้เขารู้สึกว่าได้เลือก” อย่าลืมว่าเด็กมีเหตุผลของตนเอง รู้จักการปฏิเสธ แต่เราก็ให้เขาเลือก เช่น ‘หนูจะแปรงฟันตอนนี้ หรือจะไปอาบน้ำก่อน … เด็กก็จะรู้สึกว่าได้เลือก แต่ก็คือทำตามที่พ่อแม่ต้องการ

Timeout ช่วยได้
พญ เสาวภา “ขั้นตอนการ timeout เพื่อรับมือเด็กๆ
1) สงบสติอารมณ์ราว 5 นาที อาจใช้นาฬิกาจับเวลามาช่วย”
2) เมื่อครบเวลา แต่ยังไม่สงบ ก็ต่อเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสงบ จากนั้นจึงเริ่มคุย โดยเริ่มจากชมที่เด็กสงบได้ก่อน อย่าเพิ่งดุ ด่า ตรงนี้ผมมักจะถามลูกก่อนว่า หนูทำแบบนี้ทำไม ให้เขาบอกเหตุผลของเขามาก่อน
3) จากนั้นค่อยให้เด็กได้คิดว่าเกิดอะไรขึ้น ทำอะไรไป โดยเราคอยช่วยแนะนำ

นอกจาก Time out ยังมี Time in

พญ เสาวภา “เมื่อเด็กดื้ออยากได้อะไร แต่ไม่มี ไม่ได้ พ่อแม่ใช้ time in เพื่อ ‘เข้าใจ’ เด็กๆ ได้ ในช่วงนี้บางคนอาจเลิกดื้อ” ช่วงนี้อาจจะมีการดื้อแบบเอาแต่ใจ เด็กบางคนอาจเข้าสู่สภาวะดื้อแบบไม่รับรู้อะไร พ่อแม่ควรต้องพยายามคุยกับเด็ก แต่เพิกเฉยต่อความไม่รู้เรื่อง ถ้าคุยด้วยเหตุผลจะคุย แต่ถ้าคุยไม่รู้เรื่องก็จะไม่คุย

ผมว่า Time in หินกว่า Time Out เยอะ ในช่วงนี้ เด็กดื้อรั้นอาจตีพ่อแม่ อย่าโกรธ ใจเย็น ทำเสียงนิ่งๆ แล้วบอก ‘ตีไม่ได้นะ เจ็บ’ จับมือไว้ซักพักแล้วปล่อย พญ เสาวภา “ถ้าเด็กยังคงตีไม่เลิก พ่อแม่จะแสดงการ ‘เพิกเฉย’ ไม่ได้แล้ว อาจจะต้องบอกให้เด็กให้ไปนั่งเก้าอี้” ที่เราเจอมา ตอนช่วงนี้จะโหด เพราะลูกดื้อ ไม่ฟัง พ่อแม่จะเริ่มโมโห และความรุนแรงจะเกิดตอนนี้แหล่ะ ในกรณีเด็กก้าวร้าว ก็ให้เด็กได้คุมอารมณ์ เราต้องแสดงน้ำเสียงเรียบๆ ห้ามโกรธ ท่องไว้ๆ ช่วงนี้ห้ามโกรธเด็ดขาด แต่เด็กก็คือเด็กแหล่ะครับ บางครั้งกว่าเด็กจะสงบอารมณ์ลงได้อาจกินเวลานานจนลืมว่าทำอะไรไป พ่อแม่ต้องเล่าให้ฟังบ้าง แล้วกระตุ้นให้คิด เห็นไหมครับ สุดท้ายมาคุยกันด้วยเหตุให้เข้าใจ

บางครั้งเราไม่รู้ตัวหรอกครับ เมื่อลูกดื้อ เราโกรธ เราดุ ด่า เอ็ดลูก เราโมโห ในการรับมือเด็กตอนกำลังอยู่ในอารมณ์ดื้อ คุณหมอบอกว่า ‘โทนเสียง’ สำคัญมาก จากนั้นเข้าใจเขา ชวนคิดแก้ปัญหา เราต้องควบคุมอารมณ์โกรธ โมโห ของเราให้ได้ มันยากตรงนี้แหล่ะ แต่ถ้าทำได้ เราคือพ่อแม่ที่สอนลูกอย่างเข้าใจ

เวลาเราเหนื่อยๆจากการทำงาน แล้วลูกดื้อ อารมณ์เหนื่อยของเรามักจะพาความโกรธ โมโห เข้าา พญ เสาวภา บอกว่า “อย่ากดดันทางอารมณ์ต่อเด็ก แม้พ่อแม่จะเหนื่อย แต่อย่าผลักดันความรู้สึกนั้นให้เด็ก” ก็จริงนะ เด็กไม่ใช่ที่รองรับอารมณ์เหนื่อยของเรา เรากลับมาจากทำงาน เขาก็อยากจะได้เพื่อนเล่น อยากจะแสดงออกของเขา

ถ้าบ้านไหนเป็นครอบครัวใหญ่ ก็คุยกันว่าจะเลี้ยงแบบไหน ยังไง ในกรณีไม่สามารถโน้มน้าวคนในครอบครัวได้ ก็อาจต้องคุยให้เด็กเข้าใจ แต่ไม่ใช่ไป discredit วิธีการของคนอื่น ว่าคนนี้สอนไม่ดี อย่าไปเชื่อ หรือไปว่าลูกว่าทำไมไม่เชื่อพ่อแม่

end-violence

ภาพจาก Facebook Unicef Thailand

บทสรุปของการเสวนาในครั้งนี้ พญ เสาวภา “timeout หรือ การเข้ามุม ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการสร้างช่วงเวลาที่ได้สงบสติอารมณ์ ได้คิด” ผมเห็นด้วยนะ เราเริ่มการยุติความรุนแรง ด้วยการคุยด้วยเหตุผล ให้เขาคิดเอง เข้าใจเอง การเลี้ยงลูก อย่างผมกับภรรยา ถ้าลูกดื้อ ร้องไห้ เรามักจะปล่อยให้เขาร้อง เมื่อสงบ เราพูดกันด้วยเหตุผล แม้มันจะทำใจยากก็เถอะ เด็กมักจะลงไปนอนกับพื้น ร้องไห้ เพื่อต่อรองเรา แต่เราก็คุยด้วยเหตุผล ให้เขาเข้าใจ เพราะเด็กทุกคนมีเหตุผลของตนเองทั้งนั้น

ดาวน์โหลดคู่มือ “เลี้ยงลูกให้ถูกวิธี ไม่ตีก็ดีได้” ได้ ที่ www.endviolencethailand.org หรือ สนทนาสดๆ กับ พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ ได้ที่ UNICEF Live Chat

พ่อแม่ท่านใดมีข้อสงสัยเรื่องการสร้างวินัยเชิงบวก ร่วมกิจกรรมตอบคำถามสดผ่าน Facebook Unicef ทุกวันเสาร์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เริ่ม 12 กันยายนนี้ 10:00-12:00น. #ENDviolence #unicefth

ภาพประกอบจาก @UNICEF_Thailand