เมื่อพฤติกรรมผู้เข้าชมงานแสดงสินค้าเปลี่ยนไป ผู้จัดงานจะต้องปรับตัวให้ทัน
ผมเอง เคยได้มีโอกาสเป็นผู้จัดงานที่ออกบูธในงานไอทีอย่าง Commart, Comworld ในฐานะของแบรนด์และผู้จัดจำหน่าย แต่นั่นก็เป็นระยะเวลานานมาแล้ว ด้วยความที่การตลาดมีการปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมของผู้บริโภค จำได้ว่าหลายปีก่อน การประชาสัมพันธ์ ผมพก Netbook ไปรายงานสดกิจกรรมที่บูธแบบสดๆ อุปกรณ์ที่มี คือ กล้องดิจิตอล ตอนนั้นยังไม่มี Free Wi-Fi ก็ใช้ Wi-Fi ของบริษัทที่ไปตั้งบูธนั่นแหล่ะ เพื่อนำภาพสดๆ มาเขียนลงเว็บไซต์ของบริษัท อัพเดตแบบสดๆ แต่ไม่ใช้ Live นั่นคือการ PR แบบหนึ่งที่รวดเร็วในยุคนั้น แต่ยังใช้วิธีการ Manual คือการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล แล้วนำภาพโอนถ่ายเข้าเน็ตบุ๊ก จากนั้นก็เขียนเนื้อหาพร้อมภาพประกอบ จากนั้นใช้เวบบอร์ดอย่าง Pantip เป็นสื่อในการกระจายข่าวกิจกรรมของบูธ สินค้าที่น่าสนใจ ถ่ายภาพราคาแล้วโพส นั่นคือจุดเริ่มต้นของของปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าในงานแสดงสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะงานแสดงสินค้าไอที
นักข่าวพลเมือง รายงานบรรยากาศงาน (แบบไม่สด) จากเมื่อก่อนที่มีการจัดงาน มีคนถ่ายภาพ กลับมาถึงบ้านก็โพสในกระทู้เวบบอร์ดอย่าง Pantip คนที่สนใจก็ติดตาม แต่ยุคนี้ Live แบบ Real-time ผ่าน twitter, facebook, social network ต่างๆ หรือแม้กระทั่งโพสกระทู้เวบบอร์ดจากสมาร์ทโฟนเพื่อรายงานสดได้เลย
ส่วนฝั่งผู้แสดงสินค้า ก่อนหน้านี้ด้วยความที่แบรนด์อยากจะให้คนเข้าชมงาน เห็นบูธของตนเอง เห็นแบรนด์ เห็นโลโก้ของตนเอง จึงตั้งบูธอยู่ในทำเลที่มองหาง่าย และหากบูธใดอยู่ด้านหน้าก็จะเด่นในการเดินเข้างานแล้วเจอเลย หลายครั้งที่ผู้จัดงาน พยายามกั้นทางเดิน (จะเห็นได้จากงาน Comworld, Commart งานที่เป็นมือถือ ที่กั้นทางเดินจากประตูเพื่อบังคับให้เดินผ่านบูธต่างๆ) ซึ่งทำเลตรงนั้น ผู้จัดงาน คาดหวังที่จะให้ผู้เข้าชมงาน ได้เดินผ่าน และสนใจบูธของตนเอง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป คนเข้างานเนี่ยแหล่ะ กลายเป็นคนที่ส่งสารกระจายไปให้เพื่อนๆของพวกเขาได้รับรู้ว่าแบรนด์ไหนมีสินค้าอะไรน่าสนใจบ้าง
เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป สมาร์ทโฟนเข้ามาแทนที่ อินเทอร์เน็ตไร้สายครอบคลุมมากขึ้น ผมและ @kafaak เคย LiveTweet ในงาน Commart นั่นคือจุดเริ่มต้นของการรายงานสด โดยใช้ Twitter เพราะความพร้อมของ สมาร์ทโฟน ความคล่องในการพิมพ์บนสมาร์ทโฟน การถ่ายภาพ การอัพโหลดภาพพร้อมคำบรรยายผ่านทวิตเตอร์ซึ่งทำได้ง่ายและใส่แท็ก #ittwt รูปแบบของนักข่าวพลเมืองที่เปลี่ยนรูปแบบการชมงานแสดงสินค้าเดิมๆ ที่ผู้เข้าชมงานไม่รู้ว่างานมีอะไรน่าสนใจบ้างก็มีนักข่าวพลเมืองอย่างพวกผม ออกไปเดินและทวิตรายงานสด รายงานความน่าสนใจของแต่ละบูธ ฝั่งคนเข้าชมงานก็เปลี่ยนพฤติกรรม จากเดิมที่เดินหาผังบูธ แล้วเดินไปทั่วงาน เก็บโบร์ชัวร์ (โครตเมื่อย) แล้วหาที่นั่งเลือกซื้อ จากนั้นเดินไปถามราคาและของแถมสินค้าในบูธต่างๆ การจัดงานแบบเก่านั้น บูธที่อยู่ด้านหน้า อาจจะไม่ได้รับความสนใจ เพราะคนเข้างานคิดว่า เดินให้ทั่วงานก่อนจะดีกว่า แล้วค่อยเดินออกมาดู แต่เมื่อเดินทั่วงานก็เมื่อยขา อยากกลับบ้านแล้ว การเดินมาดูบูธที่ตั้งอยู่ด้านหน้าฮอลล์แสดงสินค้าก็เป็นอันต้องพับไปเพราะผู้เข้าชมงานเมื่อยขาไม่อยากเดินและไม่สนใจบูธแล้ว (อ้าว ตอนแรกผู้แสดงสินค้าอยากจะมีบูธตั้งไว้ด้านหน้าเพื่อให้ผู้เข้าชมงานเห็นได้ง่ายและเดินเข้าไปชมบูธไม่ใช่หรือ)
จากเดิม ที่แบรนด์ต่างๆ พยายามมองหาทำเล และคุยกับผู้จัดงานขอทำเลในการจองพื้นที่บูธที่เด่นและสะดุดตา ด้วยความคาดหมายว่า ผู้เข้าชมงานจะสนใจบูธและเดินเข้ามาชม แต่พฤติกรรมของผู้เข้าชมงานเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขา หาข้อมูลจากกระทู้ ติดตาม Twitter คนที่มาเดินในงาน นักข่าว ติดตามจากกระทู้ เวบบอร์ดต่างๆ อ่านจากเว็บข่าว ได้เห็นว่ามีสินค้าอะไรบ้างที่น่าสนใจแล้วตรงดิ่งไปบูธนั้นเลยเพื่อรับโปรโมชั่นในงาน
พฤติกรรมของคนเดินงานมหกรรมแสดงสินค้าเปลี่ยนแปลงไป พวกเขา ไม่ได้เดินตั้งแต่หน้างานยันบูธด้านในๆ เดินวนทั่วงาน การจัดทางเดินและประตูเข้าออกในงานหลายๆงาน ยิ่งทำให้ผู้เข้าชมงานรู้สึกแย่กับผู้จัดงาน พวกเขาหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์ และพบว่าบูธไหนน่าสนใจจากนักข่าวพลเมือง จากเพื่อน จาก twitter พวกเขายินดีที่จะเดินเข้าไปหาสินค้าที่ตนเองสนใจในบูธ โดยอาศัยข้อมูลจาก Social Network ที่พวกเขาติดตามอยู่
มองจากมุมนี้ ผมว่า แบรนด์ต้องปรับความคิดใหม่ เพราะผู้เข้าชมงาน ไม่ได้สนใจการออกแบบบูธสวย แต่สนใจสินค้าที่น่าสนใจและกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์ วันแรกของการเปิดงาน Thailand Mobile Expo 2012 ณเดชน์มาร่วมงานแถลงข่าว ถามว่า พวกเขาเป็นกลุ่มที่สนใจสมาร์ทโฟนหรือไม่ บางครั้งพวกเขาสนใจในตัวดารามากกว่า แต่บูธเองก็คาดหวังว่าแฟนคลับจะสนใจและซื้อสินค้าที่ดาราที่พวกเขาชื่นชอบเป็นพรีเซ็นเตอร์
ตอนนี้ ผู้เข้าชมเข้างาน รับทราบข้อมูลสินค้าจาก Social Network และข้อมูลจากโบร์ชัวร์ออนไลน์ ที่หลายๆคนโพสลงใน Social Media ต่างๆ มากกว่าจะเข้าไปดูในเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อรับชมโปรโมชั่น อย่างภาพด้านบน บูธของ iFox เอาเชฟหมีมาโปรโมท หากเป็นเมื่อก่อน จะต้องถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล แล้วพอกลับไปบ้านค่อยโพสรูป บางครั้งไม่ทันเพราะงานใกล้จะจบแล้ว ไม่เหมือนกับตอนนี้ที่มี Live โพสภาพกันสดๆ
จะเป็นไปได้ไหมว่า หากแบรนด์รู้แบบนี้แล้ว การออกแบบบูธ การสร้างบูธให้โดดเด่นสวยงาม ต้องมาคู่กับสินค้าที่น่าสนใจ อย่างงาน Thailand Mobile Expo 2012 หากถามคนที่ออกมาจากงานว่า มีอะไรน่าสนใจบ้าง หนึ่งในนั้นคือ หลายๆคนถ่ายภาพและแชร์ มือถือ i-mobile 3SIM ราคา 1,390 บาท นี่คือการที่ผู้เข้าชมงานถ่ายภาพกันเอง โดยไม่ต้องมีพริตตี้ ไม่ต้องมีพิธีกรหน้าบูธ และผู้แสดงสินค้า ก็ไม่ได้ตั้งใจให้ i-mobile 3SIM ดังกว่ารุ่นท็อปของพวกเขาด้วย
ผู้เข้าชมงาน เมื่อได้เห็นอะไรแปลก และน่าสนใจก็จะแชร์ นี่คือธรรมชาติของพฤติกรรมพวกเขา พริตตี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง น่ารัก คนที่ถ่ายภาพแล้วแชร์ ติดโลโก้แบรนด์สินค้าในภาพด้วยก็เป็นการ PR แบรนด์
เมื่อเรารู้ว่า พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป แทนที่จะเสียเงินทำโบร์ชัวร์แจก 5,000 ใบ เปลี่ยนมาเป็นการสร้างจุดเด่นให้สินค้าน่าสนใจ แล้วคนเข้าชมงานก็ถ่ายภาพ แชร์บน Social Network ของตนเองให้เพื่อนๆของพวกเขาได้ดู หรือเพื่อนซื้อสินค้าร้านนี้ แล้วชอบพนักงานก็ชื่นชมผ่าน Social Network
แต่ก็มีบางบูธ ที่ไม่ได้สนใจ แต่เขาก็อาจจะมีเหตุผลของเขา เช่นบูธขายเคส Rainbow Arts ติดป้ายว่า ห้ามถ่ายภาพ โอเคครับ ผมไม่ถ่าย คุณก็เสียโอกาสที่นักข่าวพลเมืองจะช่วยคุณประชาสัมพันธ์บูธ แต่เขาก็อาจจะมีเหตุผลว่าไม่อยากจะให้ถ่ายภาพสินค้าเพราะกลัวถูกนำไปเลียนแบบ ปลอมแปลง หรือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะทางร้านเพราะไม่รู้ว่าใครถ่ายรูปเพื่อไปใช้ในวัตถุประสงค์ใด
บูธที่ตั้งอยู่ด้านหน้า ไม่ได้น่าสนใจเสมอไป ไม่จำเป็นว่าผู้เข้าชมงานจะต้องแวะเข้าไปชมและเลือกซื้อสินค้า แม้ว่าจะทำทางเดินบังคับให้เดินผ่านบูธก็ตาม ในแง่ของการขายพื้นที่บูธทำได้ และผู้ค้าได้ประโยชน์ แต่หากบังคับเดินแล้วลูกค้าไม่สนใจ เดินผ่านไปงัันๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรกับการขายเลย ที่แย่คือทำให้ลูกค้ารู้สึกแย่กับการจัดงานด้วย
ตอนนี้ลูกค้าไม่ต้องเดินเมื่อยเก็บโบร์ชัวร์แล้ว ค้นหาข้อมูลทางเน็ตหรือติดตามโซเชียล เน็ตเวิร์ค ก็ได้ทราบว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง และราคาเท่าไหร ถ้าค่ารถไปเข้าชมงานไม่คุ้มก็ไม่ควรเสียเวลาเดินทาง
แต่ถ้าสินค้าที่เราสนใจ ไม่ว่าจะอยู่บูธตั้งที่ทำเลไหน เข้าไปลึกเพียงใด ถ้าสินค้าเราดีและน่าสนสจ ก็จะมีคนแชร์ ถ่ายภาพโพสบน Social Network แบบนี้บูธจะตั้งอยู่ในลึกแค่ไหน ผู้เข้าชมงานก็เดินหาจนเจอได้แหล่ะ
เอาพฤติกรรมลูกค้าตอนนี้เลยนะ ดูข้อมูลจากเว็บ หาข้อมูล รีวิว กระทู้ แล้วดิ่งไปที่บูธแล้วกลับ ไม่เดินทุกบูธให้เมื่อย เพราะมีตัวเลือกแล้ว ดังน่ั้นถ้าแบรนด์ไหนยังคิดจะจ่ายเงินเยอะๆ ได้บูธทำเลดี เอาเงินมาสร้างกิจกรรม ไฮไลต์ในบูธให้น่าสนใจ ให้ลูกค้าสมัครใจอยากแชร์เองบน social network จะดีกว่า เพราะตอนนี้ เสียงของ “เพื่อน” และ “ผู้ใช้” ดังว่าเสียงแบรนด์
ยุคนี้ ยุคของ นักข่าวพลเมือง ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้ ด้วยสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ตคู่ใจของคุณเอง