นโยบายของผู้บริหารบริษัทเอกชนในการดูแลพนักงานที่ประสบภัยน้ำท่วม

จากเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้พนักงานบริษัทเอกชน ได้รับความเดือดร้อน กังวลใจ ในการทำงาน การนำรถไปจอดบนทางด่วน สะพานข้ามคลอง ทำให้การเดินทางไปทำงานยากลำบากขึ้น เพราะต้องใช้รถสาธารณะแทน และเมื่อรัฐบาลประกาศหยุดราชการ ทำเอาเหล่าพนักงานเอกชน รวมทั้ังตัวผมเอง (ผู้เขียน) เรียกร้องอยากให้บริษัทหยุดงาน เพื่อเฝ้าระวังน้ำท่วมและดำเนินการป้องกันน้ำท่วมบ้านของตนเอง

ยอมรับว่าช่วงนั้นจิตใจไม่มีสมาธิในการทำงาน เพราะมัวสนใจเฝ้าระวังน้ำท่วมบ้านของตนเอง แต่เมื่อสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น บริษัท ก็ประกาศให้พนักงาน สามารถทำงานที่บ้านแบบ Work at Home โดยการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อประสานงานกันได้ และสั่งงานกันทางโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงการให้ลาได้โดยไม่คิดวันลา หากไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ตามปกติ ช่วงนั้นผมก็อยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน เฝ้าระวังที่บ้าน หลายๆคนเรียกร้องบริษัท เรียกร้องผู้บริหารขอให้บริษัทประกาศหยุด นั่นคือความคิดของพนักงานในระดับล่าง กลาง แต่สำหรับผู้บริหารในระดับสูง และระดับบน ไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะผู้บริหารระดับสูง คำนึงถึงผลกระทบในการประกาศหยุดงานที่ส่งผลเสียและกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ พนักงานคิดในมุมของคนทำงานที่เข้าออฟฟิศตอกบัตร เดินทางลำบาก กังวล เป็นห่วงบ้าน บริษัทก็อนุญาตให้พนักงานกลับบ้านก่อนเวลาเลิกงาน เพื่อเตรียมป้องกันบ้านถูกน้ำท่วมและเตรียมการย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ประเด็นเรื่องการหยุดงานของพนักงานบริษัทเอกชน ผมเห็นตาม Social Network ต่างๆ แล้วมาสะดุดตรงความเห็นหนึ่งบน Facebook ว่า อยากจะหยุดงาน อยากให้บริษัทประกาศหยุด บ้างก็ว่าบริษัทใจร้าย แต่อยากจะได้เงินเดือนเต็มเดือน ประเด็นนี้น่าคิดครับ เพราะพนักงานมองในมุมของพนักงาน อยากได้เงินเดือนเต็มเดือน อยากหยุด อยากลาโดยไม่คิดเ็ป็นวันลา แต่ไม่คิดในมุมของการดำเนินธุรกิจของบริษัท อันนี้ำไม่แปลก เพราะพนักงานคิดในมุมการทำงาน ความสะดวกสบาย และ “คาดหวัง” กับบริษัท ใช่ครับ คาดหวังไว้สูง ว่าเมื่อเดือดร้อน พนักงานจะได้รับความช่วยเหลือ และเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆของเพื่อนๆ ที่โพสบน Social Network ต่างๆ

บริษัทผม เครือเดียวกับ True ทางบริษัทมีนโยบายในการช่วยเหลือพนักงานที่ถูกน้ำท่วมอยู่แล้วเป็นประจำทุกปี (บางพื้นที่ ท่วมทุกปี โดยเฉพาะในบางจังหวัด) แต่ปีนี้น้ำท่วมหนัก ก็ได้เห็นการช่วยเหลือในด้านต่างๆ อันดับแรกก็คือ มีการจ่ายเงินเดือนให้พนักงานก่อนล่วงหน้า 1 อาทิตย์ ปกติเงินเดือนออกวันที่ 25 แต่บริษัทจ่ายเงินเดือนให้ตั้งแต่วันที่ 18 เพื่อให้พนักงานซื้อกระสอบทราย และวัสดุอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม และใช้ในการซื้ออาหาร สินค้า เพื่อเป็นเสบียงในช่วงน้ำท่วม และยังมีสวัสดิการในการจำหน่ายกระสอบทรายให้พนักงานในราคาพิเศษอีกด้วย นอกจากนี้จากปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม บริษัทก็ได้ติดตั้งตู้จำหน่ายน้ำหยอดเหรียญให้พนักงานได้เติมน้ำสะอาดใช้ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือพนักงานทั้งพนักงาน โดย

– มอบถุงยังชีพมูลค่า 1,000 บาท

– บ้านพักของตัวเองที่อาศัยอยู่ประจำได้รับความเสียหาย จะช่วยเหลือตามจริง ไม่เกิน 20,000 บาท

– บ้านเช่าหรือบ้านพักอาศัยที่อยู่เป็นประจำ แต่ไม่ใช่ของตนเอง ได้รับความเสียหาย จะช่วยเหลือตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท

– รถยนต์ที่ใช้เป็นประจำเสียหาย ช่วยเหลือตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท

– รถจักรยานยนต์ ช่วยเหลือตามจริงไม่เกิน 5,000 บาท

- หากเสียหายทั้งบ้านพักและยานพาหนะจะช่วยเหลือตามจริง แต่ไม่เกิน  20,000 บาท หรือ  10,000 บาท
- บ้านรวมทรัพย์สินภายในบ้านของบิดามารดา ที่พนักงานไม่ได้อาศัยอยู่ประจำ ช่วยเหลือตามจริงไม่เกิน  5,000 บาท
- จัดหาที่พักพิง ช่วยเหลือค่าเช่าที่พักอาศัยชั่วคราวตามจริงไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท ไม่เกิน 2 เดือน  

- ให้ยืมเงินเพื่อสำรองค่าใช้จ่าย สำหรับกรณีน้ำท่วมแบบปลอดดอกเบี้ย พนักงานประจำไม่เกิน 30,000 บาท พนักงานสัญญาจ้างไม่เกิน  10,000 บาท
(ชำระคืนด้วยการหักเงินเดือนเป็นระยะเวลา 6 เดือน)

นโยบายเหล่านี้ HR หารือกับผู้บริหารในการช่วยเหลือพนักงานที่ประสบภัย แม้ว่าบริษัทจะไม่ประกาศหยุด ก็ให้ความช่วยเหลือเรื่องที่พัก การให้ยืมเงินสำรอง การช่วยเหลือในการซ่อมแซมที่พักและยานพาหนะที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม หากบริษัทใดมีนโยบายดีๆแบบนี้ เชื่อว่าหลายๆคนอยากเข้าไปทำงานในบริษัท เพราะการมีสวัสดิการที่ดี ความมั่นคง ความน่าทำงาน บรรยากาศในการทำงานที่ดี ย่อมทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติม

นโยบายบริษัทช่วยเหลือพนักงานที่น้ำท่วม โดย Prakal Blog

ธุรกิจโทรคมนาคม-ไอทีเต็มที่ดูแลเพื่อนพนักงานน้ำท่วมบ้าน