ถึงเวลาแล้ว กับ CPU Dual-Core บนมือถือสมาร์ทโฟน

by @yokekung
“ห๊าาาาา…. มือถือเนี่ยนะ CPU 1GHz???” …… มือถือเนี่ยนะ Dual-Core !!!!! บ้าไปแล้ววววว….. หลายๆคนคงสงสัยแบบนี้ เพราะจากที่เราเคยใช้สมาร์ทโฟนกันมา ก็คงพอจะรู้กันมาบ้าง ว่ามือถือแบบสมาร์ทโฟน ใช้การประมวลผลจากซีพียู ระดับ 201MHz อย่างที่เราเห็นกันบน Windows Mobile 6.1 สมัยก่อนก็ถือว่าเร็วแล้ว แต่เมื่้อพฤติกรรมการใช้งานผู้ใช้เปลี่ยนไป วันนี้ เราได้เห็นสมาร์ทโฟนในระดับล่างๆ ใช้ซีพียู 600MHz จนถึงระดับสูง จะเป็น 1GHz
อ่านแล้วเริ่มคุ้นๆ เหมือนกับคอมพิวเตอร์เลยใช่ไหมครับ ผมกำลังจะเปรียบเทียบ กับคอมพิวเตอร์ ให้เข้าใจกันง่ายๆ เราใช้คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ CPU 80Hz มาถึง 120MHz ก็ถือว่าแรงแล้ว ใครจะไปคิดว่า ซีพียูในคอม จะพุ่งไปถึง 3GHz อย่างทุกวันนี้ การทำงานของสมาร์ทโฟน จะคล้ายๆกับคอมพิวเตอร์คือ มีซีพียู เป็นตัวประมวลผล มีจีพียู ช่วยในการประมวลผลด้านกราฟิก ทำงานบนระบบปฏิบัติการอย่าง Windows, Mac OS, Linux เทียบกับสมาร์ทโฟนก็เช่นกัน ซีพียูทำหน้าที่ประมวลผล จีพียูทำให้ภาพการเรนเดอร์สวย เล่นเกม ดูหนัง สะดวกและลื่นไหล โดยมีตัวระบบปฏิบัติการ OS อย่าง Windows Phone7, Android, iOS, Bada, Brew, Linux และยังใช้ควบคุม Firmware ในการทำงานของ OS อีกด้วย
ดังนั้น หากการพัฒนาของซีพียูบนสมาร์ทโฟน มีการพัฒนาก็เพื่อตอบสนองการทำงานของเราในปัจจุบัน ที่เช็กเมล อัพเดท Twitter, Facebook, Youtube การประมวลผลหลายๆอย่างใช้งานพร้อมกันมากขึ้น ระบบปฏิบัติการบนมือถือ รองรับการทำงานแบบ Multi-Tasking มากขึ้น ทำให้ซีพียู Dual-Core เข้ามาตอบสนองกลุ่มคนที่ใช้งาน เกม กราฟิก ดูหนัง เพราะตอนนี้ เราใช้มือถือ ถ่ายวีดีโอ ตัดต่อวีดีโอได้บนมือถือ ตัดเพลงบนมือถือได้เลยด้วยซ้ำ แถมฟังเพลงไปด้วย เล่นโซเชียล เน็ตเวิร์กไปด้วยพร้อมกัน
จากสมัยก่อนที่เราใช้มือถือธรรมดา มาเป็นจอสี ถ่ายรูป ฟังเพลง จนมาถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ การใช้งานเครือข่ายโซเชียล เน็ตเวิร์ก การทำงานกับแอพพลิเคชั่นหลายๆอย่าง ทำให้ซีพียูบนมือถือ ในระดับ 600MHz ดูจะตอบสนองการทำงานโดยทั่วไป ไม่เพียงพอเสียแล้ว จึงได้มีการนำเอาการทำงานของซีพียู 1GHz เข้ามาใช้บนสมาร์ทโฟน ทั้งการดูคลิปวีดีโอ ดูหนังบนมือถือ ดู Youtube เพราะทุกวันนี้ ผู้ใช้ ใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างไร ฟังเพลง อ่านข่าว เช็กอีเมล เล่นเน็ต พร้อมๆกัน ระบบปฏิบัติการ ก็รองรับ Multi-tasking ก็เอาพฤติกรรมแบบนี้แหล่ะครับ มาใช้กับมือถือด้วยเช่นกัน แล้วก็จะหงุดหงิดมากถ้าต้องปิดโปรแกรมนี้ เปิดอันนั้น แล้วปิด แล้วปิดอันนี้ใหม่ ขัดใจอย่างมาก ดังนั้น ตอนนี้เราจะเห็นว่า ทุก OS ต้องรองรับ Multi-Tasking
จากที่กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อเราได้เห็น Mac, PC ใช้ซีพียู Dual-Core ซัดกันไปถึง Triple-Core และ Quad-Core กันไปแล้ว มือถือ สมาร์ทโฟน ขออัดพลังประมวลผลแบบ Dual-Core กันบ้าง
ลองมารู้จักกับ CPU บน SmartPhone แบบ Dual-Core กัน
คำถามแรก ก่อนซื้อคอมใหม่สักตัว ผมขอถามว่า คุณจะใช้ CPU Dual-Core ไปเพื่ออะไร หรือจำเป็นไหม ว่าต้องใช้ Quad-Core แล้วการทำงาน การใช้งาน ของเราจำเป็นขนาดนั้นเชียวหรือ?? นี่คือคำถามที่ผมจะถามในการซื้อมือถือเช่นกัน ว่าพฤติกรรมในการใช้งานของคุณ ใช้งานอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่า อยากได้ซีพียูแรงๆ ประมวลผลหลายแกน ใช้มือถือราคาแพงๆ แต่พอใช้งานจริง แค่โทรออกรับสาย เช็กเมล์ ไม่ได้ถ่ายรูป ไม่ได้แชร์ ไม่ได้เล่นแอพ ไม่แช็ต ไม่ได้เล่นเกมอะไรเลย ดังนั้น หากพูดถึงซีพียูแบบ Dual-Core แล้ว คุณจะต้องพิจารณาด้วยว่า แอพพลิเคชั่น ที่คุณใช้งานนั้น รองรับการทำงานร่วมกับซีพียูแบบ Dual-Core หรือไม่ ตรงนี้คือจุดสำคัญมากกว่า เพราะถ้าการทำงานของคุณ ซื้อมือถือ Dual-Core มา แต่ดันใช้มือถือเหมือนแบบ Single-Core ก็ประหยัดงบไปซะดีกว่า เอามาจ่ายค่าโทรดีกว่าเยอะ
มือถือฉลาดล้ำ ต้องมีสมองกลที่ยอดเยี่ยม Dual-Core ไปเลย

จากที่ผมบอกไปว่า คุณต้องรู้ ว่าพฤติกรรมในการใช้งานมือถือของคุณเป็นแบบใด เหมาะสมกับสมาร์ทโฟนหรือไม่ เหมาะกับแอพพลิเคชั่นแบบใด เหมาะกับ OS ใด เพราะการเลือกซื้อสมาร์ทโฟน ในแง่มุมของผมแล้ว เหมือนกับการซื้อคอมพิวเตอร์สักตัวเลยทีเดียว มือถือราคาสองหมื่น คุณใช้งานอะไรบ้าง แล้วซีพียู แบบใดที่เหมาะกับคุณ
ดูจากพฤติกรรมในการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แค่ถ่ายภาพ แล้วเอาลงคอมพิวเตอร์ อย่างมือถือสมัยก่อน แต่เป็นการถ่ายภาพ และแบ่งปันบน Social Network อย่าง Facebook, Twitter หรือแม้กระทั่งการสร้าง Blog บน WordPress, Blogspot และเว็บไซต์ต่างๆ
หลายๆคน ทำนายว่า ปีนี้ 2011 จะเป็นปีแห่ง Dual-Core SmartPhone หรือแม้กระทั่งการตอบสนองความต้องการสูงไปจนถึง Quad-Core เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งนับว่าปีที่แล้ว ซีพียู 1 GHz เป็นซีพียูที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในปีก่อน ดังนั้น ต้นปีนี้ เราก็เห็นมือถือ CPU 1GHz กันเพียบ แถมราคาก็ลงมาเรื่อยๆแล้ว
ถ้าถามว่า ซีพียูแบบ Dual-Core มีดียังไง ตอบแบบง่าย ก็คือ สามารถที่จะประมวลผลแอพพลิเคชั่นได้หลายตัวพร้อมๆกัน สามารถที่จะอัพโหลดภาพไปยังโซเชียล เน็ตเวิร์ก แล้วถ่ายรูปต่อไปได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ ปล่อยให้อัพโหลดไป หรือฟังเพลง ไปด้วย อ่านข่าว อ่านอีเมลไปพร้อมๆกัน เห็นไหมล่ะครับ มันคือการเอาพฤติกรรมในการใช้คอม มาใช้บนมือถือชัดๆ
ล่าสุด ที่มีข่าวของการเปิดตัวสมาร์ทโฟนจาก LG ที่เรียกได้ว่าเป็น The world’s first dual-core smartphone นั่นคือ LG Optimus 2X รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีของซีพียู Nvidia Tegra 2 1GHz processor ที่ประมวลผลแบบ dual-core ซึ่งทุกคนเมื่อได้ยินชื่อ Tegra จะก็ทราบกันดีถึงประสิทธิภาพในการประมวลผล
สำหรับ  LG Optimus 2X นั้นเป็นสมาร์ทโฟนในระดับท็อป ที่รองรับการสัมผัสหน้าจอแบบทัชสกรีน ที่มีจุดเด่นด้านโปรเซสเซอร์แบบ dual-core  ที่รองรับการเปิดเว็บเบราเซอร์ได้รวดเร็วขึ้น ตอบสนองการสั่งงานได้รวดเร็วและการทำงานแบบ Multi-tasking เรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกของโลกเลยทีเดียว
แต่ไม่ใช่ว่าอยากจะเชียร์ให้คุณใช้มือถือ Dual-Core หรอกนะ แต่ว่า ซื้อไปแล้ว พฤติกรรมของคุณใช้งานอะไร แบบนั้นมากกว่า บางคนใช้ฟังเพลง ดูหนัง บางคนใช้ Social Network ครบ ถ่ายวีดีโอ แชร์ ใช้คุ้มเลย บางคนใช้โทรออก รับสาย อย่างเดียว ก็มี ถามว่า มันคือความชอบส่วนบุคคลไหม ใช่ครับ แต่คุณใช้งานคุ้มค่าหรือเลือกได้เหมาะสมกับตัวเองหรือยัง
เราได้อะไรจาก ชิป Dual-Core ล่ะ?

การใช้งานซีพียู Dual-core ในการประมวลผล ที่อวดพลังในการประมวลผลได้ถึงขีดสุดในการช่วยกันประมวลผล เนื่องจากในชิปนั้นประกอบด้วยแกนประมวลผล 1GHz จำนวน 2 แกน นั่นหมายความว่า การทำงานของซีพียู 1GHz ที่ทำงานพร้อมกัน 2 ตัวจะให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า แต่ก็พูดได้ไม่เต็มปากหรอกว่า ซีพียูแกนคู่ จะทำงานได้รวดเร็วกว่าแกนเดี่ยว เพราะผมถือว่า แอพพลิเคชั่นต้องรองรับในการออกแบบมาเพื่อใช้งานซีพียูได้เต็มประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่คุณได้จากชิป Dual-core คือการทำงานบนความเร็วที่คล่องตัวขึ้น รวมไปถึงการทำงานแบบ multi-tasking ได้ดียิ่งขึ้น
นี่คือการเปลี่ยนแปลงของวงการมือถือสมาร์ทโฟน ที่ไล่ตามคอมพิวเตอร์ไปติดๆ ไม่ใช่เพราะการแข่งขัน แต่เพื่อตอบสนองพฤติกรรมในการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนไป เพราะผมมองว่า มือถือแบบสมาร์ทโฟน มันก็คือคอมพิวเตอร์ย่อส่วนเครื่องเล็กบนฝ่ามือนั่นเอง
ที่น่าตกใจคือว่า 1GHz processors บนมือถือ มันมาเร็วขนาดนี้เชียวหรือเนี่ย แถม Dual-Core CPU บนมือถือ มันก็มาแล้ว เอาเป็นว่าคุณจะใช้ประโยชน์อย่างไรให้เต็มที่มากที่สุดจะดีกว่า
ถึงแม้ว่ามือถือจะพัฒนาไปถึง Dual-Core, Quad-Core แต่สิ่งที่อยากจะขอให้พิจารณาคือ แอพพลิเคชั่นที่ใช้งาน ตอบสนองการทำงานร่วมกับซีพียูแบบ Dual-Core และ Multi-Core ได้มากน้อยแค่ไหน เหมือนกับคอมพิวเตอร์แหล่ะครับ หาก OS, App จัดการการทำงานร่วมกับซีพียูได้ดีแล้ว มันก็ลื่นไหลไม่มีติดขัด ไม่มีสะดุดน่าใช้ดีออกนะ  นอกจากนี้ยังต่อยอดไปใช้การประมวลผลจีพียูแบบ 3D ด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว ลูกค้าจะเป็นคนเลือกเอง ว่าเขาจะใช้มือถือแบบใด สมาร์ทโฟนที่รองรับ Dual-Core ก็เป็นทางเลือก ในการใช้งานแอพ การเล่นเกม การเล่นวีดีโอ การจัดการกับภาพถ่าย วีดีโอ หากมีการประมวลผลแบบแกนคู่แบบนี้ ทำให้ประสบการณ์ในการใช้งานมือถือ น่าใช้ขึ้นเยอะ ทิ้งท้ายไว้ว่าผมห่วงแค่ 2 เรื่องคือ แบตเตอรี่ใช้งานกับ Dual-Core CPU หรือ GPU ดีๆ จะไหวไหม กับอีกเรื่องคือ หน้าจอ สวย ใหญ่ ตอบสนองการสัมผัสไวเพียงพอหรือไม่ เพราะประสบการณ์ในการใช้จะสนุกขึ้นแบบ X2 กับมือถือ Dual-Core