แคมเปญ "ตัวการความโกรธ" กับมารยาทและความเหมาะสม

กลายเป็น Talk of the town แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ กับคลิป Youtube ที่เผยแพร่ว่อนอินเทอร์เน็ตกับพฤติกรรมการคุยโทรศัพท์ในห้องเรียนขณะอาจารย์สอน แล้วอาจารย์โมโหถึงขีดสุด ไม่พูดไม่จาหยิบโทรศัพท์ปาลงพื้นแตกกระจาย ท่ามกลางเสียงกรีดร้องของนักศึกษาสาวในห้องเรียน ที่หลายๆคนมองว่าจัดฉาก เตี้ยมกันไว้ก่อน แต่ผมในฐานะที่เป็นลูกอาจารย์ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ ท่านเป็นอาจารย์สอนปริญญาโท ใครที่เป็นลูกอาจารย์ ก็คงเข้าใจและรู้ถึงหัวอกความรู้สึกดี กับแคมเปญของ Burger King ที่เน้นความแรงของการสื่อสาร IMC บน Social Media ที่ทุกคนปล่อยคลิป แชร์บนบล็อก บน Twitter, Facebook ของตัวเอง แต่เมื่อเฉลยออกมา กลับกลายเป็นแคมเปญสุดแรงของเบอร์เกอร์คิงส์

กรณีนี้ มองได้สองแง่มุม ก็คือแง่ของ มารยาท ความเหมาะสม ในการใช้โทรศัพท์ อุปกรณ์สื่อสารในโรงภาพยนตร์ ห้องสมุด ห้องเรียน และสถานศึกษา รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญทางศาสนาต่างๆ แน่นอนว่าความไม่เหมาะสมนั้นส่งผลให้เกิดความรำคาญกับคนรอบข้าง ถึงขนาดการใช้ BB ในโรงหนังก็มีแต่วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม แสงไฟแยงตา และความไม่เหมาะสมในการใช้งานในสถานที่ต่างๆ เดินกดบีบีเดินไปชนคนโน้นคนนี้ก็มีให้เห็นได้ตลอด ซึ่งสำหรับผมแล้ว ด้วยความที่เป็นลูกอาจารย์ มองว่า จากคลิปอาจารย์ท่านถือว่าใจดีมากแล้ว แม้จะไม่ไล่ออกจากห้อง แต่คงทนไม่ไหวจริงๆ (ถ้าไม่ได้มองเรื่องการจัดฉาก) เพราะในต่างประเทศ ก็มีการปาโทรศัพท์แบบนี้ในเรื่องเล่าเช้านี้ เช่นกัน (ขนาดตอนนี้ผมเรียน ปริญญาโท อาจารย์ก็ยังต้องดุเรื่องการคุยกันในห้องเหมือนตอนเป็นเด็กๆ อยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝรั่งที่ถือเรื่องมารยาท มากกว่าคนไทย ที่ยังพอหยวนๆกันไปได้ แต่ก็ทำให้กลับมาคิดว่า ตอนนี้ทุกคนติด Social Media, Facebook, Twitter การใช้งาน Update ข่าวสาร แจ้งข่าวบน Social Media ในสถานที่ต่างๆก็ควรจะคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย

มุมมองของนักการตลาดและพีอาร์

สถานที่แรกที่ผมใช้ BlackBerry ในการรรายงานข่าวของ PR ก็คือ งานแถลงข่าวมอบรางวัล HWM Thailand Brand Survey Awards ปีที่แล้ว ที่ยอมรับว่า ครั้งแรกของการ Live นั้นรู้สึกแปลกไปจากคนอื่น ที่กดโทรศัพท์มือถือ ถ่ายรูป แล้วอัพเดต Twitter ของบริษัทสดๆ ในงาน โดยที่คนทั้งงานก็หันมามองเพราะมัวแต่กด BB (ที่คนทั่วไปมองว่าเล่นแช็ต และไม่มีมารยาท) แต่จริงๆก็คือเราทำงาน อัพเดตข่าวสารให้ Follower ทราบในนามของ PR บริษัท

ในฐานะของนักข่าวพลเมือง และนักข่าว Twitter อย่างผม เจอคลิปนี่้เข้าไปก็ต้องฉุกคิดว่า การกด บีบี หรือทวิตด้วยมือถือ ในที่สาธารณะ มันสมควรไหม งานแถลงข่าวตอนนี้ นักข่าวทุกคนรู้กันดีว่า กดโทรศัพท์มือถือเพื่อรายงาน Live ข่าวสารสดๆ อัพเดตข้อมูลสดๆ จากงานแถลงข่าวแบบสดๆ แต่หากสถานที่อื่นๆที่ไม่เอื้ออำนวย อาจจะมีกรณีเหมือนในคลิปก็ได้ เพราะผู้พูด ผู้บรรยาย ไม่เข้าใจว่า คุณกำลังอัพเดตข่าวสาร เป็นการทำงานเพื่ออัพเดตบน Social Media เป็นคำสั่งของเจ้าของ หรือการใช้สื่อดิจิตอลยุคใหม่ แต่เรื่องมารยาทและความเหมาะสมก็ต้องดูกันให้ดีเช่นกัน เพราะสังคมเรานั้น ถือว่าควรตั้งใจฟังในทุกๆการ
บรรยาย ไม่คุย ไม่เล่น ไม่กดมือถือ ไม่รับโทรศัพท์ (ควรจะปิดเสียงด้วยซ้ำ) เพื่อให้เกียรติผู้พูด

แต่เรื่องของเบอร์เกอร์คิงส์ ไม่ว่า Viral นี้จะแรงอย่างไร คนจะอยากกินหรือไม่ แต่แคมเปญนี้ ตามความเห็นส่วนเรื่อง การปลุกเร้าอารมณ์ความโกรธ ไม่ make sense ในเรื่องของการนำภาพของครู ปาโทรศัพท์กลางห้องเรียน ซึ่งไม่เหมาะสมในการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน ประเด็นนี้สอนให้ฉุกคิดและคำนึงถึงมารยาทและความเกรงอกเกรงใจผู้อื่น

เพราะความโกรธ ความรุนแรง มาจากอารมณ์ชั่ววูบ ที่กระทำโดยไม่ได้ยั้งคิด อาจจะก่อให้เกิดผลเสียหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันตามมาได้ คำว่า Hot ที่แทนรสชาตเผ็ดร้อนของเบอร์เกอร์นั้น ควรจะสื่อในลักษณะอื่น ที่มองในมุมของอารมณ์ร้อน โกรธ แบบน่ารักๆ ก็ทำให้อยากทานเบอร์เกอร์ขึ้นมาได้

Angry Whopper สื่อถึงความเผ็ดร้อนของพริก การแสดงอารมณ์ร้อนแบบถึงขีดสุด ควันออกหู ความร้อนจากรสชาตที่เผ็ดสะใจ ทำให้ภาพของผลิตภัณฑ์น่าจะดูดีกว่านี้เยอะ มากกว่าจะเอาคลิปแบบนี้มานำเสนอ ซึ่งหากมองแล้ว ต้องขอบคุณคลิปนี้ที่ทำให้เตือนสติคนไทยให้ฉุกคิดและมองถึงการให้เกียรติคนพูด ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดก็ตาม สุดท้ายคือความสำนึก ไม่ใช่แค่ความสะใจและเห็นคนอื่นเป็นเรื่องตลก เพราะคลิปนี้ มันไม่ตลกเลย ถ้าเป็นเรื่องจริง จะได้สอนให้รู้สำนึกกันบ้าง

กลับมาเรื่องของการตลาดบ้าง เบอร์เกอร์คิงส์มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากมาย หลายคนมองว่า แบรนด์ไม่น่าดูถูกครูอาจารย์แบบนี้เลย จริงครับ ถ้ามองในภาพของคนเป็นอาจารย์ นักศึกษาต้องให้เกียรติอาจารย์ หรือใครก็ได้ที่ไปพูดหน้าห้อง หน้าหอประชุม หากไม่มีใครฟังหรือสนใจเลย มัวแต่กดโทรศัพท์ ซึ่งไม่มีใครรู้และเข้าใจว่า นักข่าวกำลังอัพเดตข่าวสดๆ หรือคุยโทรศัพท์เรื่องส่วนตัว ก็ถือว่าผิดมารยาท และไม่เหมาะสม เหมือนกับหยิบโน้ตบุ๊กขึ้นมาทวิตรายงานสด นั่นคือการทำงาน แต่การหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอัพเดตรายงานข่าว กลับถูกมองว่าเป็นการแช็ต คุยเล่น ไม่สนใจผู้พูด ผู้บรรยาย

เรื่องของแคมเปญนี้ มีกระแสลบอย่างมาก ในการนำเอาครูบาอาจารย์มาล้อเล่น แต่บางคนก็เข้าใจ ในฐานะของนักการตลาด ถือว่าการสื่อสารแรงมากและได้รับการตอบรับทั้งแง่บวกและลบแต่แบรนด์ แต่ถามว่าอยากกินไหม ทันทีที่มีทวิตเตอร์นี้ขึ้น ผมเองก็อยากไปจะกิน แถมช่วงเวลาในการปล่อยคลิปตอนนี้ก็เป็นช่วงเวลาเย็นของการทานอาหารค่ำด้วย

ซึ่งเอาจริงๆแล้ว Wording ที่เป็น Key Message ในการสื่อสาร IMC นั้น บอกว่ารสชาตเผ็ดร้อน มีพริกสไลด์วางเต็มๆ กลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นขา BK ที่ชอบรสเผ็ดร้อน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปา โทรศัพท์ในห้องเรียนเลย เพราะใครมารยาทแย่แบบนี้ ไม่ต้องเป็นครูอาจารย์ คนข้างๆก็รำคาญเช่นกัน อย่างในโรงหนังมีคนใช้มือถือคุย ชอบเล่าพล็อตเรื่องหนังให้คนข้างๆฟัง มันก็น่ารำคาญพออยู่แล้ว สังคมตัดสินกันเองในบางครั้งคนข้างๆอาจจะมากระทืบ ทำร้ายคุณหากรำคาญความไม่เกรงอกเกรงใจ แต่ย้ำว่า อาการแสดงความโกรธถึงขีดสุดแบบนี้ ไม่ต้องเอาครูบาอาจารย์มาปาโทรศัพท์ ก็น่าจะสื่อสารในมุมอื่นๆเพื่อสื่อถึงรสชาตก็ทำได้